ข้ามศาสตร์

ความรู้ทุกศาสตร์ต่างแลกเปลี่ยนข้ามผ่านกันไปมาอยู่เสมอ ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ความรู้ได้ทำให้ศาสตร์ต่างๆ แยกตัวเป็นเอกเทศจากกันจนแทบจะปิดกั้นการถกเถียงกัน จนมองไม่เห็นหนทางที่จะสร้างความร่วมมือกัน หากแต่ในปัจจุบัน ศาสตร์ต่างๆ ต้องการการแลกเปลี่ยนสนทนากันมากขึ้น ศาสตร์ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาก็เช่นกัน จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทั้งวิธีการศึกษา การตั้งคำถาม และแนวทางการหาคำตอบจากศาสตร์อื่นๆ เพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ทั้งในศาสตร์ตนเองและศาสตร์อื่นๆ เราจะพัฒนาความรู้ข้ามสาขาขึ้นมาได้อย่างไร ความเป็นสหวิทยาการคือการรื้อแล้วหลอมรวมศาสตร์ต่างๆ หรือคือการใช้ศาสตร์ใดเป็นหลักแล้วสร้างบทสนทนากับศาสตร์อื่น หรือจะเป็นการสร้างข้อถกเถียงข้ามสาขาวิชา ปฏิบัติการของการศึกษาข้ามสาขาวิชาเป็นอย่างไร แค่ไหนจึงเรียกว่าข้ามสาขา นอกจากคำถามเหล่านั้น ประเด็นศึกษาที่เรียกร้องความรู้ข้ามสาขาได้แก่ สังคมเสี่ยง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (Science and Technology Studies, STS) วิธีวิทยาและแนวทางใหม่ๆ ในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม ศิลปะและวัตถภาวะ (materiality) กีฬาและเกม สื่อศึกษา เป็นต้น