เกี่ยวกับการประชุม

การประชุมวิชาการประจำปีมีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับความรู้จากนักวิชาการชั้นนำที่รับเชิญมาเป็นองค์ปาฐก นอกจากนี้ การที่นักวิชาการได้รู้จักกันข้ามสถาบัน สาขาวิชา และประเทศจะช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้และก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่กว้างขวางต่อไป

ในประเทศไทย การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเคยจัดมาอย่างต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิชาความรู้ของทั้งสองสาขาวิชาพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก หากแต่ในระยะหลังการประชุมดังกล่าวได้ขาดหายไปด้วยเหตุผลบางประการ ส่วนการประชุมวิชาการประจำปีของเครือข่ายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาระดับบัณฑิตศึกษาแม้จะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีคุณูปการต่อสาขาวิชา แต่ก็เป็นการประชุมในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งมีข้อจำกัดในการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับที่ลึกซึ้งกว้างขวาง

ในการประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาครั้งที่ 1 หัวข้อ “เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด” ในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเกิดจากความต้องการของเครือข่ายทางวิชาการด้านสังคมวิทยามานุษยวิทยาที่ต้องการกระตุ้นบรรยากาศการถกเถียงทางวิชาการด้วยแนวคิดใหม่ๆ อีกทั้งเป็นการเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการที่ค่อนข้างซบเซาภายใต้บรรยากาศความตึงเครียดเชิงโครงสร้างต่างๆ ทำให้พบว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิกฤติการเมืองในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต คติความเชื่อ ระบบคุณค่า และความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว เครือญาติ สถานที่ทำงาน สถานศึกษา เพื่อนฝูง ฯลฯ แต่เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในแง่มุมเชิงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยารวมถึงตอบคำถามเกี่ยวกับสภาพสังคม วัฒนธรรมรวมถึงการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างกว้างขวาง

ความสำเร็จจากการประชุมครั้งที่ 1 ทำให้เครือข่ายเห็นร่วมกันว่าควรมีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้ หัวข้อ คลี่คลายญ่ายเคลื่อน” (Dynamism, Deconstruction, De-territorialization, Destabilitzation)

คลี่

หมายความถึง การเปลี่ยนแปลง พลวัต พัฒนาการของอีสานยุคสงครามเย็น สู่การข้ามแดน

คลาย

หมายความถึง การเผยตัว การรื้อสร้างความเข้าใจสังคมในปัจจุบัน 

ญ่าย

เป็นคำในภาษาอีสาน หมายถึง การกระจายตัว De-localize De-territorialization

เคลื่อน

หมายถึง การขับเคลื่อนไปข้างหน้า Mobility

ทั้งนี้ เพื่อกระชับและขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการสังคมศาสตร์ โดยเน้นประเด็นวิชาการที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอีสานรวมทั้งการทบทวนองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยามานุษยวิทยาในภาคอีสานและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและองค์รวมรู้อื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา นักวิชาการสาขาอื่น รวมถึงนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสนำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง รวมถึงด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. เพื่อกระชับและขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

องค์กรร่วมจัด

  1. สาขาการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (องค์กรหลัก)
  2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 
  3. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  4. สมาคมนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสยาม (สสมส., SASA)
  5. กลุ่มวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  6. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  7. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  8. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  9. ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  10. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  11. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
%d bloggers like this: